องค์รวม กนอ.
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัด กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 339 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 และตราเป็นพระราชบัญญัติ กนอ. พ.ศ. 2522
ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2539 การจัดตั้ง กนอ. มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกของภาครัฐในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ของประเทศด้วยการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมและรองรับการประกอบกิจการโรงงาน อุตสาหกรรมให้อยู่รวมกันอย่างเป็นระบบ
เพื่อสนับสนุนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม ไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550 ให้ขยายขอบเขตการพัฒนาจากภาคอุตสาหกรรมสู่ภาคบริการ
จรรยาบรรณ กนอ.
- พึงมีความรับผิดชอบต่อสาธารณชนที่นิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ และหรือได้รับผลกระทบอันเกิดจากการดำเนินงานขององค์กร
- พึงรักษา/ธำรง ไว้ซึ่งจารีตประเพณีและศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของชาติ ให้ความร่วมมือสนับสนุนนโยบายและกิจกรรมต่าง ๆ ของทางราชการและชุมชนด้วยความเอื้ออาทร โดยคืนผลกำไรส่วนหนึ่งขององค์กรให้แก่สังคมอย่างสม่ำเสมอ
- พึงรักษาความลับของผู้ลงทุน ผู้ใช้บริการ ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนอย่างจริงจัง และไม่นำไปใช้ประโยชน์เพื่อองค์กรหรือบุคคลโดย มิชอบ
- พึงให้บริการลูกค้าทุกระดับด้วยความประทับใจ โดยความรวดเร็ว ถูกต้อง ตลอดจนการให้บริการในระบบสาธารณูปโภคต่อผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องด้วย คุณภาพที่ได้มาตรฐานและราคาที่เป็นธรรม
- พึงยึดถือและปฏิบัติในเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและสมดุล
- พึงสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐศาสตร์ให้แก่ประเทศชาติ รัฐบาล และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร
- พึงให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้ร่วมดำเนินงานและผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมเสมือนเป็นหน่วยงานและลูกค้าของ กนอ.
- พึงกำหนดเงื่อนไขกับคู่สัญญาอย่างเป็นธรร
- พึงให้ข้อมูลขององค์กรทั้งด้านบวกและด้านลบที่จำเป็นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือสาธารณะอย่างเพียงพอ เป็นจริง และถูกต้อง
- ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- พึงเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด
- พึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ทั้งด้านความรู้ ความสามารถและปลูกจิตสำนึกให้มีคุณธรรม ซื่อสัตย์พากเพียร อดทน และรับผิดชอบ
จรรยาบรรณคณะกรรมการ กนอ.
คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม ตรวจสอบได้ อันเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่ความน่าเชื่อถือ และประสิทธิภาพขององค์กร คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยว กับจริยธรรมและจรรยาบรรณ เพื่อให้กรรมการได้ทราบและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนี้
จรรยาบรรณของคณะกรรมการ กนอ. ต่อ กนอ.
- ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส เพื่อประโยชน์สูงสุดของ กนอ. และไม่ดำเนินการใด ๆ ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของ กนอ.
- นำความรู้และทักษะการบริหารมาประยุกต์ใช้อย่างเต็มความสามารถ และบริหารงาน กนอ. ด้วยความระมัดระวังบนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล (Good Governance)
- รักษาเกียรติยศชื่อเสียงของ กนอ. และรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของ กนอ.
- ไม่เปิดเผยข้อมูลลับของ กนอ. ต่อบุคคลภายนอก
- ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ของตน หรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่ของตนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการ แสวงหาผลประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นรวมทั้ง กนอ.
จรรยาบรรณของคณะกรรมการ กนอ. ต่อพนักงาน
- ปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความสุภาพ และให้ความเคารพต่อความเป็นปัจเจกบุคคล และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยความเป็นธรรม
- ให้ความสำคัญให้กับพนักงานในเรื่อง สวัสดิภาพ ค่าตอบแทน และสวัสดิการที่เป็นธรรมแก่พนักงาน
- ดำเนินการอย่างเป็นระบบในการพัฒนาความรู้ ความสามารถของพนักงานอย่างทั่วถึง
- ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างในเรื่องจรรยาบรรณ เพื่อส่งเสริมให้มีการปฏิบัติที่เคร่งครัดในกลุ่มผู้บริหาร และพนักงาน
- ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานอย่างเคร่งครัด
จรรยาบรรณของคณะกรรมการ กนอ. ต่อลูกค้า
- ให้บริการที่มีคุณภาพ โดยกำหนดระดับคุณภาพที่ยอมรับได้
- แสวงหาช่องทางที่จะเพิ่มประโยชน์ให้แก่ลูกค้าและประชาชนอย่างต่อเนื่อง
- สร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อให้ลูกค้าและประชาชนเกิดความพึงพอใจ
- เปิดเผยข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการบริการอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
- จัดระบบให้ลูกค้าและประชาชนสามารถร้องเรียนเกี่ยวกับการบริการ และให้ลูกค้าและประชาชนได้รับการตอบสนองผลอย่างรวดเร็ว
จรรยาบรรณของคณะกรรมการ กนอ. ต่อสังคมโดยรวม
- สร้างจิตสำนึกให้พนักงานทุกระดับมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยไม่กระทำการใดที่จะมีผลเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวม
- คืนผลกำไรส่วนหนึ่งของ กนอ. ให้แก่กิจกรรมที่จะมีส่วนสร้างสรรค์สังคมอย่างสม่ำเสมอ โดยครอบคลุมการสนับสนุนจารีตประเพณีและศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทย และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
- ปฏิบัติหรือควบคุมให้มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและกฎระเบียบที่ออกโดยหน่วยงานกำกับดูแล
จรรยาบรรณผู้บริหาร
จรรยาบรรณของผู้บริหารต่อ กนอ.
ผู้บริหาร หมายความถึง พนักงานระดับผู้บังคับบัญชา ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าด้วย พนักงาน
- พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร เกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพนักงาน
- พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้โดยประยุกต์ความรู้และทักษะการบริหารจัดการ อย่างสุดความสามารถในทุกกรณี ไม่บริหารองค์กรอย่างขาดความระมัดระวังหรือขาดการไตร่ตรอง
- ไม่พึงแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ข้อมูลใด ๆ ขององค์กรซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ และไม่ดำเนินการใด ๆ ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อองค์กร
- ไม่พึงเปิดเผยข้อมูลลับขององค์กรต่อบุคคลภายนอก
- จัดการดูแลมิให้ทรัพย์สินใด ๆ ขององค์กรเสื่อมค่าหรือสูญหายโดยมิชอบ
- รายงานสถานภาพขององค์กรโดยสม่ำเสมอ และครบถ้วนตามความเป็นจริง
- รายงานต่อสาธารณะถึงแนวโน้ม (Prospects) ในอนาคตขององค์กรทั้งในด้านบวกและด้านลบ ซึ่งจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและมีข้อมูลสนับสนุนอย่างเพียงพอ
- บริหารจัดการความเสี่ยงและกำหนดระบบควบคุมภายในอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและกระทบต่อการดำเนินงานของ กนอ.
- กำกับ ดูแล การดำเนินงานตามนโยบายที่กำหนดไว้ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
จรรยาบรรณของผู้บริหารต่อพนักงาน
- พึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงาน โดยให้โอกาสพนักงานอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ
- พึงปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานอย่างเคร่งครัด
- พึงปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความสุภาพ และให้ความเคารพต่อความเป็นปัจเจกบุคคล และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และไม่ดำเนินการใด ๆ ที่ไม่เป็นธรรมต่อพนักงาน
- สร้างแนวทางปฏิบัติที่ทำให้พนักงานตระหนักในความสำคัญของจรรยาบรรณ และบทบาทซึ่งพนักงานปฏิบัติได้ เพื่อเสริมสร้างให้เกิดพฤติกรรมที่อยู่ในกรอบของจรรยาบรรณอย่างทั่วถึงทั้ง องค์กร
- พึงให้ความมั่นใจกับพนักงานในองค์กร ในเรื่องสวัสดิภาพผลตอบแทนและสวัสดิการที่เป็นธรรมแก่พนักงานและความก้าวหน้าในงาน Career path
- สื่อสารข้อมูลทางกลยุทธ์ขององค์กร และนโยบายให้พนักงานทราบอย่างต่อเนื่อง
- ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานอยู่เสมอ
- การแต่งตั้งและโยกย้าย การเลื่อนขั้น รวมถึงการให้รางวัล และการลงโทษพนักงาน ต้องมีคุณธรรม มีจริยธรรม และกระทำด้วยความยุติธรรม ความสุจริตใจ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสมของพนักงานแต่ละบุคคล
- สนับสนุนให้พนักงานมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามความรู้ความสามารถ
- บริหารงานอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม และการให้โอกาสที่เท่าเทียมกัน
- เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถแจ้งเรื่องการทำผิดกฎหมายขององค์กร
- ส่งเสริมให้พนักงานตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- ส่งเสริมให้พนักงานเป็นคนดีมีคุณธรรม ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
จรรยาบรรณของผู้บริหารต่อลูกค้าและประชาชน
- พึงให้บริการที่มีคุณภาพ โดยกำหนดระดับคุณภาพที่ยอมรับได้ของการบริการ
- พึงจัดระบบให้ลูกค้าและประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริการ และให้ลูกค้าและประชาชนได้รับตอบสนองอย่างรวดเร็ว
- พึงเปิดเผยข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการบริการอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
- พัฒนาช่องทางที่จะเพิ่มประโยชน์ให้แก่ลูกค้าและประชาชนอย่างต่อเนื่อง และมีการสร้างนวัตกรรมการบริหารใหม่ เพื่อให้ลูกค้าและประชาชนเกิดความพึงพอใจสูงสุด
- พึงปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่มีต่อลูกค้าและประชาชนอย่างเคร่งครัด
- การนำเสนอการบริการจะต้องไม่ทำให้ลูกค้าและประชาชนเกิดความเข้าใจผิด หรือสับสน/นำเสนอการบริการด้วยความชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
- รักษาความลับของลูกค้าและประชาชนอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ รวมถึงไม่นำมาใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมิชอบ
- พยายามรักษาต้นทุนการผลิตให้ต่ำสุด ควบคู่กับรักษาคุณภาพของการบริการให้ได้มาตรฐาน
- ไม่ค้ากำไรเกินควรเมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพของการบริการ และไม่กำหนดเงื่อนไขการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกค้าและประชาชนรับผิดชอบความเสียหายอย่างเป็นธรรมให้ลูกค้าและประชาชนที่ได้รับการบริการ ที่ผิดพลาด หรือไม่เป็นไปตามสัญญา หรือไม่เป็นไปตามข้อตกลง
จรรยาบรรณของผู้บริหารต่อคู่แข่งทางการค้า
- พึงประพฤติปฏิบัติภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่ดี
- ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งขันทางการค้าด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต หรือไม่เหมาะสม
- ไม่พยายามทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งขันทางการค้าด้วยการกล่าวหาในทางร้าย โดยปราศจากซึ่งมูลความจริง
จรรยาบรรณของผู้บริหารต่อสังคมโดยรวม
- สร้างจิตสำนึกให้พนักงานทุกระดับมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยไม่กระทำการใดที่จะมีผลเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม
- ปฏิบัติ หรือควบคุมให้พนักงานปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและกฎระเบียบที่ออกโดยหน่วยงานกำกับดูแล
- ไม่ยอมเป็นเครื่องมือ หรือสนับสนุนแนวทางใด ๆ ที่จะทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบต่าง ๆ
- ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแล และรายงานข้อมูลที่เกี่ยวกับการ ฝ่าฝืน หรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือกฎระเบียบต่าง ๆต่อหน่วยงาน
- คืนผลกำไรส่วนหนึ่งขององค์กรให้แก่กิจกรรมที่จะมีส่วนสร้างสรรค์สังคมอย่าง สม่ำเสมอ โดยครอบคลุมการสนับสนุนจารีตประเพณีและศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทย และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
จรรยาบรรณพนักงานและลูกจ้าง
พนักงาน หมายความว่า บุคคลที่ กนอ. จ้างไว้ปฏิบัติงานในลักษณะประจำและรับเงินเดือนตามตำแหน่ง และขั้นที่บรรจุ
ลูกจ้าง หมายความว่า ลูกจ้างชั่วคราวที่ กนอ. จ้างไว้ ไม่เป็นการประจำ เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจรหรือเป็นไปตามฤดูกาล
จรรยาบรรณพนักงานและลูกจ้างต่อ กนอ.
- ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ กฎระเบียบ และคำสั่งของ กนอ. อย่างเคร่งครัด
- พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อุทิศตน ทุ่มเท ดูแลรักษาทรัพย์สินของ กนอ.
- พึงใช้เวลาและทรัพย์สินของ กนอ. ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนทั้งทางตรงและทางอ้อม
- ไม่ดำเนินการใดๆ ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อ กนอ. รวมทั้งต้องเปิดเผยการมีความสัมพันธ์กับองค์กร สถาบันทางธุรกิจภายนอก หรือความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในด้านผลประโยชน์
- ต้องรักษาความลับของลูกค้า ประชาชน และ กนอ. อย่างเคร่งครัด และไม่ใช้ข้อมูลภายในของ กนอ. หรือลูกค้า เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
- ละเว้นหรือหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นต่อบุคคลภายนอกหรือสื่อมวลชนใน เรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานของ กนอ. โดยที่ตนเองไม่มีอำนาจหน้าที่ หรือเรื่องอื่นใดที่อาจกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงและการดำเนินการของ กนอ.
- ชี้แจงทำความเข้าใจกับบุคคลภายนอก เพื่อรักษาไว้ซึ่งภาพลักษณ์ที่ดีของ กนอ. เมื่อมีโอกาส
- แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากพบว่า กนอ. หรือบุคคลใน กนอ. กระทำการใด ๆ โดยมิชอบ
จรรยาบรรณพนักงานและลูกจ้างต่อลูกค้า
- พึงให้บริการลูกค้าด้วยความเต็มใจและมีความจริงใจ สุภาพ อ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส เต็มใจให้บริการ
- ให้การบริการลูกค้าด้วยความเต็มใจและสุภาพโดยการแนะนำให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าเมื่อลูกค้าต้องการหรือเมื่อลูกค้ามีปัญหา
- มีความจริงใจและรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับลูกค้าและไม่สร้างความหวังแก่ลูกค้าในสิ่งที่ กนอ. ไม่สามารถทำได้
- ยินดีรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากผู้ใช้บริการหรือบุคคลอื่น
- พึงละเว้นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากลูกค้าซึ่งมีมูลค่าเกินปกติวิสัย ไม่เบียดเบียนลูกค้า หรือแสวงหาผลประโยชน์
- ให้บริการลูกค้าและผู้ที่มาติดต่อโดยไม่มุ่งหวังผลประโยชน์ตอบแทน
- หากลูกค้านำสิ่งของมามอบเพื่อตอบแทน แต่มีมูลค่าสูง ให้คืนผู้มอบโดยเร็ว และอธิบายเหตุผลที่ไม่อาจรับไว้ได้ กรณีส่งคืนผู้มอบไม่ได้ให้รายงาน กนอ. เพื่อดำเนินการตามที่เห็นสมควร เช่น ส่งมอบให้องค์กรสาธารณกุศล เป็นต้น
จรรยาบรรณพนักงานและลูกจ้างต่อตนเอง
- ยึดมั่นในคุณธรรม ไม่แสวงหาตำแหน่ง ความดีความชอบหรือประโยชน์อื่นใดโดยวิธีมิชอบจากผู้บังคับบัญชา หรือจากบุคคลอื่น
- ละเว้นจากอบายมุขทั้งปวง ไม่ประพฤติตนในทางที่อาจทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของตนเองและองค์กร เช่น ไม่กระทำตนเป็นคนมีหนี้สินรุงรัง ไม่หมกมุ่นในการพนันทุกประเภท และไม่ประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพ หรือกระทำกิจการใดอันจะกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ หรือชื่อเสียงของตนเองและองค์กร
- พึงประพฤติตนเหมาะสมกับการเป็นพนักงาน กนอ. ทั้งกิริยามารยาท การวางตัว การแต่งตัว เพื่อสร้างความเชื่อถือให้แก่ตนเองและกนอ.
- ปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของ กนอ. อย่างเคร่งครัด
- รักษาสัจจะ ความจริงใจต่อตนเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
- รู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัตย์ความดีนั้น
- อดทน อดกลั้นและอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความซื่อสัตย์สุจริตไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม
- รู้จักละวางความชั่วความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
- เป็นคนตรงต่อเวลา อุทิศเวลาในการปฏิบัติงานให้กับ กนอ. อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
- พยายามสร้างและรวบรวมผลงานที่ตนทำไว้อย่างเป็นระบบพร้อมที่จะเผยแพร่นำเสนอ หรืออ้างอิงได้เมื่อต้องการใช้ประกอบการพิจารณาหรือปฏิบัติงาน
- พึงใช้จ่ายอย่างประหยัดไม่ก่อภาระหนี้สินล้นพ้นตัว รู้จักเก็บออมไม่ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย หรือ ซื้อทรัพย์สินเกินกำลังความสามารถหรือที่มาแห่งรายได้ของตน
- ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุข เช่น เล่นการพนัน ติดยาเสพติด ดื่มสุราเป็นอาจิณ เป็นต้น
- ปฏิบัติตนและพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ยึดมั่นในคุณงามความดี ความถูกต้อง ความชอบธรรม มีความกตัญญูต่อ กนอ.
- พัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความทันสมัย และรู้จักปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
จรรยาบรรณพนักงานและลูกจ้างต่อผู้ร่วมงาน
- พึงรักษาและเสริมสร้างความสามัคคี เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน งดเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นเดือดร้อน
- ไม่กล่าวร้ายต่อผู้บริหารหรือพนักงานอื่นโดยปราศจากซึ่งมูลความจริง
- เคารพในสิทธิของผู้ร่วมงานที่ปฏิบัติงานอยู่ใน กนอ.
- ปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานด้วยความสุภาพ มีน้ำใจ โอบอ้อมอารี มีมนุษยสัมพันธ์อันดี ไม่ปิดบังข้อมูลที่จำเป็นในการปฏิบัติงานของผู้ร่วมงานและปรับตนให้สามารถทำ งานร่วมกับบุคคลอื่นได้
- ให้เกียรติผู้อื่น เช่น ไม่นำผลงานของผู้อื่นมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน
- หลีกเลี่ยงการนำข้อมูลหรือเรื่องราวของผู้ร่วมงานที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน และเรื่องส่วนตัวไปวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือ สร้างความแตกแยก
- พึงให้การสนับสนุนเพื่อนร่วมงานอย่างจริงใจ
- ให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้เป็นอย่างดี และพร้อมที่จะก้าวหน้าต่อไป
- ให้ความอนุเคราะห์และหยิบยื่นความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่พึงกระทำได้โดยไม่เดือดร้อน
- ดูแลทุกข์สุขให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันเมื่อเจ็บป่วยหรือเดือดร้อนตามแต่กรณี
- ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มใจโดยไม่ต้องให้ร้องขอ เมื่อเห็นว่าผู้ร่วมงานมีงานจำนวนมาก หรือเป็นงานเร่งด่วนที่จะต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
จรรยาบรรณพนักงานและลูกจ้างต่อผู้บังคับบัญชา
- พึงให้ความเคารพต่อผู้บังคับบัญชาและผู้ที่มีตำแหน่งที่สูงกว่า
- รับฟังคำแนะนำของผู้บังคับบัญชา
- เชื่อฟังและปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาโดยที่ไม่ ขัดต่อระเบียบข้อบังคับขององค์กรด้วยความวิริยะอุตสาหะให้งานบรรลุผลสำเร็จ
- ไม่กระทำตนเป็นปรปักษ์ต่อผู้บังคับบัญชา ปฏิบัติตนให้เป็นผู้มีสัมมาคารวะ มีความสุภาพต่อผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงกว่า
- ไม่รายงานข่าวสารที่เป็นเท็จต่อผู้บังคับบัญชา
จรรยาบรรณพนักงานและลูกจ้างต่อสังคม
- พึงให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม ช่วยเหลือชุมชนอุทิศตนเพื่อสังคม
- พึงอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนและเพื่อสันติสุขของสังคมโดยรวม
- ไม่ให้ความร่วมมือหรือสนับสนุนกิจกรรมหรือกิจการใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม